บทความเรื่อง “การค้าประเวณีในประเทศสิงคโปร์”
ในประเทศสิงคโปร์ไม่มีกฏหมายกำหนดให้ผู้ค้าประเวณีมีความผิด เนื่องจากประเทศสิงคโปร์มีแนวคิดว่า หากการค้าประเวณีเป็นการผิดกฎหมายโดยสิ้นเชิงแล้วก็จะส่งผลกระทบในเชิงลบ เช่น แก๊งมาเฟีย การก่ออาชญากรรม การค้ามนุษย์ และความเสี่ยงต่อสุขภาพของประชาชน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าการค้าประเวณีถูกต้องตามกฎหมายอย่างเต็มที่ เนื่องจากผู้ค้าประเวณีชาวต่างชาติจะถูกควบคุมโดยพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง (Immigration Act 8 (f,g) และกิจกรรมการทำงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีมีความผิดทางอาญา เช่น
– การใช้สถานที่สาธารณะเพื่อการค้าประเวณี
– แสวงหาประโยขน์จากหญิงบริการ
– เป็นเจ้าของสถานที่ค้าประเวณี
การเป็นเจ้าของสถานที่ค้าประเวณีถึงแม้จะผิดกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่ตำรวจ Anti-Vice Department ใช้วิธีการปกครองโดยการควบคุมจำนวนการออกใบอนุญาตให้เจ้าของสถานที่ และการตรวจสอบอนุญาตให้ผู้ค้าประเวณีทำงานในสถานที่ดังกล่าว ส่วนใหญ่สถานบริการอยู่บริเวณย่าน Gelang และผู้ค้าประเวณีจะต้องผ่านการตรวจสุขภาพรายเดือนและจะได้รับบัตรเหลือง (บัตรแสดงประวัติการตรวจสุขภาพ และรายละเอียดสถานที่ค้าประเวณีที่ทำงานอยู่)
จากข้อมูลอย่างไม่เป็นทางการ จากประสบการณ์ของนักสังคมสงเคราะห์ภายใต้โครงการ Project X ของสมาคมช่วยเหลือสตรีที่ได้รับความรุนแรงทางเพศ (Sunshine Initiative Singapore) ผู้ค้าประเวณีส่วนใหญ่ เป็นชาวต่างชาติและมีคุณสมบัตรดังนี้
– ต้องมีอายุระหว่าง 21 ถึง 35 ปี
– ไม่เป็นชาวมุสลิม
– ต้องไม่เป็นเพศชาย
– ส่วนใหญ่มาจาก จีน มาเลเซีย ไทย และชาวสิงคโปร์
เมื่อผู้ค้าประเวณีมาถึงประเทศสิงคโปร์เจ้าหน้าที่ตำรวจ Anti-Vice จะต้องสัมภาษณ์ถึงการมาทำงานประเภทนี้ด้วยความเต็มใจ และแจ้งให้ทราบว่าจะต้องปฏิบัติตนอย่างไรตามกฎหมายของประเทศสิงคโปร์ และเมื่อสิ้นสุดสัญญาแล้วก็จะไม่ได้รับอนุญาตให้เดินทางเข้ามาประเทศสิงคโปร์ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไปถึงตลอดชีวิต รวมทั้งห้ามไม่ให้คบหาแบบคู่รักกับคนสัญชาติสิงคโปร์ ระหว่างทำงานผู้ค้าประเวณีมีวันหยุด 1 วันต่อสัปดาห์ เจ้าหน้าที่ตำรวจ Anti-Vice จะประสานกับสำนักตรวจคนเข้าเมืองดำเนินการเรื่องการอนุญาตให้อยู่ในประเทศสิงคโปร์อย่างถูกต้องเป็นกรณีเฉพาะกิจ
สภาพการทำงาน
จากการสัมภาษณ์อย่างไม่เป็นทางการของเจ้าหน้าที่ สนร. ผู้ค้าประเวณีชาวไทยได้รับการติดต่อผ่านนายหน้าโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ซึ่งก่อนเดินทางเจ้าของสถานที่ค้าประเวณีจะต้องส่งข้อมูลส่วนตัวของผู้ค้าบริการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจตรวจสอบก่อนและเมื่อถึงประเทศสิงคโปร์จะได้รับบัตรเหลืองเพื่อตรวจเลือด และตรวจสุขภาพ ปกติมีสัญญาการทำงาน 2 ปี โดยได้รับอนุญาตให้ทำงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ และพักอยู่ที่สถานที่ค้าประเวณีที่ (Geylang)ตามที่ระบุไว้ในบัตรเหลืองโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ต้องทำงานให้เจ้าของสถานที่ค้าประเวณี 150 ครั้งโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน (ค่าขายบริการครั้งละ 50 เหรียญสิงคโปร์ หรือ 1,285 บาท) หลังจากครบ 150 ครั้งแล้ว ทุกครั้งที่ทำงานจะแบ่งค่าขายบริการคนละครึ่งกับเจ้าของสถานที่ค้าประเวณีโดยเฉลี่ยผู้ค้าประเวณีจะทำงานวันละ 10-15 ครั้ง (ตั้งแต่14.00 น. ถึง 02.00 น.) ส่วนค่าตอบแทนพิเศษจากลูกค้าก็จะเป็นของผู้ค้าประเวณีทั้งหมด การทำงานทุกครั้งต้องใส่ถุงยางอนามัย รายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 9,000 – 10,000 เหรียญสิงคโปร์ (229,500 – 255,000 บาท) ผู้ค้าประเวณีจะต้องทำงานตามที่ระบุไว้ในบัตรเหลืองเท่านั้น และเมื่อออกไปข้างนอกจะต้องกลับมาทำงานให้ตรงเวลา หากมาสายก็จะถูกหักเงินทุก 5 นาที เป็นเงิน 50 เหรียญสิงคโปร์
ปัญหาของผู้ค้าบริการที่เคยมาขอความช่วยเหลือจากสนร.
1. ลูกค้าใช้ความรุนแรงขณะมีเพศสัมพันธ์
2. ลูกค้าบังคับให้มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยาง
3. ต้องการยกเลิกสัญญา เจ้าของสถานที่ค้าประเวณีประชะลอเวลาในการส่งกลับประเทศไทย สนร. สิงคโปร์ จะดำเนินการประสานกับเจ้าหน้า Anti-Vice ผู้ค้าประเวณีจะได้รับความช่วยเหลือ และถูกส่งกลับในวันถัดไป ซึ่งปัญหาดังกล่าวมีน้อยมากประมาณ 2 ปีครั้ง (ครั้งสุดท้ายเมื่อต้นปี 2558)
นอกจากสถานที่ค้าประเวณีดังกล่าวแล้ว การค้าประเวณีนอกพื้นที่มีจะมีตามสถานบันเทิง KTV ร้านนวด ร้านสปา ส่วนช่องทางอื่นจะเป็นระบบสังคมออนไลน์ เว็บไซต์อินเทอร์เน็ต Facebook แหล่งที่มาของผู้แสวงหาประโยชน์จากหญิงบริการมาจากประเทศไทย จีน ฟิลิปปินส์ และสิงคโปร์ ผู้ค้าประเวณีจะเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยวในระยะสั้น ดังนั้นจึงไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ
การค้าประเวณีในที่สาธารณะ เช่น ในป่าชานเมือง ป่าสงวน ถือว่ามีผู้ค้าประเวณีชาวไทยอยู่พอสมควร โดยผู้ค้าประเวณีเหล่านี้จะเข้ามาในฐานะนักท่องเที่ยว และได้รับความช่วยเหลือจากคนไทยหรือแรงงานไทยในการหาสถานที่และดูแลลูกค้า ซึ่งเมื่อประมาณเดือนพฤศจิกายน 2558 มีแรงงานไทย 4 รายถูกจับกุมข้อหาแสวงหาประโยชน์จากหญิงบริการและถูกศาลตัดสินจำคุก 2-9 เดือน หลังพ้นโทษถูกส่งกลับประเทศไทยและไม่สามารถกลับเข้ามาทำงานในประเทศสิงคโปร์ได้อีก ส่วนผู้ค้าประเวณีไทยเจ้าหน้าที่ตำรวจกันไว้เป็นพยานและเมื่อคดีสิ้นสุดก็ถูกส่งกลับประเทศไทย
ในปี2558 การค้าประเวณีทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้นร้อยละ40 ทางการสิงคโปร์หน่วยป้องกันอาชญากรรมแห่งชาติ(National Crime Prevention Council, Singapore) ได้ตรวจเฝ้าระวังการกระทำที่ผิดกฏหมายในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณีทั้งในเมืองและรอบๆ เกาะสิงคโปร์
พระราชบัญญัติป้องกันการค้ามนุษย์ (Prevention of Human Trafficking Act) ที่มีผลบังคับใช้นับตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 เป็นกฏหมายที่ต่อต้านและยับยั้งการค้ามนุษย์ที่เกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ การบังคับใช้แรงงาน การสละอวัยวะของร่างกาย และให้การสนับสนุนการฟื้นฟูสมรรถภาพของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์ กฎหมายใหม่นี้จะช่วยให้หน่วยงานของรัฐให้มีอำนาจทำหน้าที่ในการปฏิบัติในทุกรูปแบบของการค้ามนุษย์ เช่น การได้รับประโยชน์จากเหยื่อการค้ามนุษย์ถือเป็นความผิด ซึ่งกฏหมายระบุผู้กระทำผิดจะได้รับโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับสูงสุด 100,000 เหรียญสิงคโปร์ และอาจมีโทษเฆี่ยนสูงสุด 6 ครั้ง ผู้ที่กระทำผิดซ้ำจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 15 ปีปรับไม่เกิน 150,000 เหรียญสิงคโปร์ และโทษเฆี่ยนสูงสุด 9 ครั้ง กรณีที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้มีอายุต่ำกว่า 18 ปี มีโทษปรับหรือจำสูงสุด 7 ปีหรือทั้งจำทั้งปรับ