Skip to main content

หน้าหลัก

นโยบายการจ้างงานสิงคโปร์และผลกระทบกับแรงงานไทย

นโยบายการจ้างงานสิงคโปร์และผลกระทบกับแรงงานไทย

รัฐบาลสิงคโปร์มีนโยบายให้ผู้ประกอบการลดการพึ่งพากำลังแรงงาน เพิ่มผลิตภาพการผลิตโดยการเพิ่มคุณภาพบุคลากรทุกระดับ งานนวัตกรรม มุ่งเน้นให้ชาวสิงคโปร์เป็นแกนนำของค์กรเพื่อให้ชาวสิงคโปร์มีงานทำที่ดี มีรายได้สูง สรุปนโยบายหลักๆดังนี้

1.นโยบายการเพิ่มผลิตภาพการผลิต – การสนับสนุนผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมในด้านการประกอบธุรกิจทั้งในรูปตัวเงินและอื่นๆ ส่วนระดับลูกจ้างคือการเพิ่มทักษะโดยการฝึกอบรมและยกระดับฝีมือทั้งชาวท้องถิ่นและชาวต่างชาติซึ่งเป็นรากฐานที่ดีในการเพิ่มผลิตภาพการผลิต สำหรับภาคก่อสร้างการเพิ่มผลิตภาพการผลิตที่สำคัญมีดังนี้

     1.1 การพัฒนาแรงงานในภาคก่อสร้างคือการยกระดับจากช่างฝีมือพื้นฐาน (Basic Skilled) เป็นแรงงานช่างฝีมือชั้นสูง (Higher Skilled) มี 4 ระบบ

           ก. CoreTrade เป็นการลงทะเบียนสำหรับบุคลากรที่มีทักษะและประสบการณ์สาขาใดสาขาหนึ่งในภาคก่อสร้างประกอบด้วย Construction Trademan Construction Foreman และ Construction Supervisor
           ข. Multi-Skilling (สารพัดช่าง) เป็นการลงทะเบียนให้กับแรงงานที่มีความสามารถในสาขาก่อสร้างมากกว่า 1 สาขา เพื่อช่วยให้นายจ้างมีความคล่องตัวในการปรับใช้แรงงานหลากหลายฝีมือในสถานที่ทำงาน ลดเวลาที่ทำให้เสียงานและเพิ่มผลิตภาพการผลิต
           ค. Market –Based Skills Recognition Framework โดยนับตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2557 ช่างฝีมือพื้นฐาน (Basic Skilled) สามารถยกระดับเป็นช่างฝีมือชั้นสูง (Higher Skilled)ได้ หากมีประสบการณ์การทำงานภาคก่อสร้างในประเทศสิงคโปร์อย่างน้อย 6 ปีและได้รับค่าจ้างอย่างต่ำเดือนละ 1,600 เหรียญสิงคโปร์
          ง. Direct R1 higher skilled worker สำหรับแรงงานต่างชาติที่มีความรู้/ความสามารถแต่ขาดประสบการณ์การทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ให้เข้ามาทำทำงานในประเทศสิงคโปร์ โดยผ่านการทดสอบ SEC(K) higher skill level โดยเริ่มมีผล ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2558

    1.2 กระจายแรงงานช่างฝีมือชั้นสูง (Higher Skilled)ให้ทั่วถึงกำหนดให้บริษัทก่อสร้างยกระดับลูกจ้างเป็นช่างฝีมือชั้นสูง(Higher Skilled) ภายในระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 โดยกำหนดให้ร้อยละ 5 จนถึงปลายปี และอีกร้อยละ 5 ภายในสิ้นปี 2559 ภายในปี 2560 บริษัทก่อสร้างต้องเป็นแรงงานช่างฝีมือชั้นสูง (Higher Skilled) ร้อยละ 10

    1.3 อนุญาตให้จ้างแรงงานที่มีประสบการณ์ต่อเมื่อใบอนุญาตหมดอายุโดยแรงงานไม่จำเป็นต้องเดินทางออกนอกประเทศสิงคโปร์โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2558

2.นโยบายลดจำนวนแรงงานต่างชาติแต่เพิ่มคุณภาพ – รัฐบาลส่งเสริมให้นายจ้างลดการพึ่งพาการใช้แรงงานต่างชาติโดยกำหนดอัตราที่จะพึ่งแรงงานต่างชาติ 1 ใน 3 ของกำลังแรงงานทั้งหมด ในขณะที่ชาวท้องถิ่นมีการศึกษาที่สูงขึ้น รายได้เพิ่มขึ้น ดังนั้นชาวต่างชาติที่จะเข้ามาทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ก็จะต้องมีคุณสมบัติที่สูงขึ้นด้วยอีกทั้งจะต้องมีความสารถพิเศษที่เป็นรากฐานในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสิงคโปร์

    2.1 ระบบโควต้า

  • ภาคก่อสร้าง (Construction) ชาวท้องถิ่นทำงานเต็มเวลา 1 คน สามารถแจ้งแรงงานต่างชาติได้ 7 คน
  • ภาคอุตสาหกรรมปิโตรเคมี (Process) ชาวท้องถิ่นทำงานเต็มเวลา 1 คน สามารถแจ้งแรงงานต่างชาติได้ 7 คน
  • ภาคอุตสาหกรรมการผลิต ( Manufacturing) จะจ้างแรงงานต่างชาติได้ไม่เกินร้อยละ 60 ของจำนแรงงานทั้งหมด
  • ภาคบริการ (Service) จ้างแรงงานต่างชาติได้ไม่เกินร้อยละ 40 ของจำนวนแรงงานทั้งหมด
  •  ภาคการเดินเรือ/อุตสาหกรรมต่อเรือ (Marine) ปัจจุบันจ้างชาวท้องถิ่นทำงานเต็มเวลา 1 คน สามารถงานชาวต่างชาติ 4.5 คน และนับจาก 1มกราคม 2561 จ้างชาวท้องถิ่น 1 คน : การจ้างงานชาวต่างชาติ 3.5 คน
  •  ใบอนุญาตการทำงานประเภท S Pass ทุกภาคธุรกิจร้อยละ 20 ยกเว้นภาคบริการคงเหลือร้อยละ 15

    2.2 เนื่องจากธุรกิจอุตสาหกรรมทางเรือและปิโตเคมีต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนทางธุรกิจและจำนวนใบอนุญาตการทำงานของแรงงานต่างชาติในภาคธุรกิจนี้ลดลง รัฐบาลจึงช่วยเหลือผู้ประกอบธุรกิจประเภทนี้โดยยังคงให้นายจ้างจ่ายภาษีการจ้างแรงงานต่างชาติในอัตราเดิม ส่นภาคธุรกิจอื่นๆจะต้องจ่ายเพิ่มนับแต่ 1 กรกฎาคม 2559

    2.3 นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2558 บริษัทนายจ้างที่มีลูกจ้างมากกว่า 25 คน และจะขอใบอนุญาตการทำงานประเภท Employment Pass ที่มีค่าจ้างต่ำกว่า 12,000 เหรียญสิงคโปร์ จะต้องประกาศตำแหน่งงานว่างในธนาคารตำแหน่งงานว่าง (Job Bank) ซึ่งตำแหน่งงานว่างจะต้องเปิดโอกาสให้ชาวสิงคโปร์อย่างน้อย 14 วัน หากไม่ปฏิบัติตามระเบียบดังกล่าวก็จะไม่อนุญาตให้ยื่นขอใบอนุญาตการทำงาน EPได้

    2.4 นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2558 ผู้ถือใบอนุญาตการทำงานที่จะนำคู่สมรสและบุตรเข้ามาอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ภายใต้ Dependant Pass จะต้องมีรายได้ประจำเดือนไม่ต่ำกว่า 5,000 เหรียญสิงคโปร์ และหากเป็นบิดามารดาภายใต้ Long Term Visit Pass จะต้องมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 10,000 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน

    2.5 หากนายจ้างต้องการจ้างแรงงานโดยไม่มีโควต้าต้องจ่ายภาษีการจ้างงานแรงงานต่างชาติที่มีอัตราสูงสุดแล้ว 950 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือนแล้ว เดิมลูกจ้างต้องมีประสบการณ์การทำงานในประเทศสิงคโปร์อย่างน้อย 2 ปี แต่นับตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2560 เพิ่มเป็น 3 ปี

3. นโยบายเพิ่มจำนวนชาวสิงคโปร์ให้เข้าสู่ตลาดแรงงานและป็นแกนนำในองค์กร

      3.1 โครงการเพิ่มทักษะและศักยภาพชาวสิงคโปร์ภายใต้โครงการ Skill Future ซึ่งเป็นนโยบายของรัฐบาลที่จะพัฒนาความสามารถชาวสิงคโปร์ให้ถึงจุดสูงสุดตลอดชีวิตโดยไม่คำนึงถึงจุดเริ่มต้น โดยการส่งเสริมทักษะบุคคลกรทุกวัยเพื่อเป็นปัจจัยในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคมที่ทันสมัย โดยมี Tripartite SkillsFuture Council เป็นผู้ประสานงานและสนับสนุนให้นโยบายประสบผลสำเร็จ เป็นโครงการที่เริ่มตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา วัยเริ่มทำงาน วัยทำงาน

      3.2 การขยายอายุการทำงานให้ลูกจ้างสูงอายุ กำหนดเกษียณอายุลูกจ้างไม่ต่ำกว่า 62 ปี สูงสุดไม่เกิน 67 ปี ปัจจุบันนายจ้างจะต้องเสนอการจ้างงานใหม่ให้กับลูกจ้างที่มีอายุ 62 ปีบริบูรณ์และมีคุณสมบัติเหมาะสมจนลูกจ้างมีอายุครบ 65 ปีบริบูรณ์ ต่อมานายกรัฐมนตรีได้ประกาศเมื่อเดือนสิงหาคม 2558 ว่าการขยายอายุการจ้างงานใหม่ของลูกจ้างสูงอายุจาก 65 ปี เป็น 67 ปี และจะบังคับใช้ภายในปี 2560 เพื่อเพิ่มประชากรชาวสิงคโปร์สูงอายุให้เข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น

      3.3. โครงการการช่วยเหลือลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำ Workfare Income Supplement Scheme (WIS) เป็นการช่วยเหลือชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้น้อยผ่านระบบเงินกองทุนสำรองเลี้ยงชีพสำหรับผู้มีงานทำโดยให้ทั้งเงินสดและเงินกองทุนสะสมเพื่อเป็นเงินออมหลังเกษียณอายุ

      3.4 Workfare Training Support (WTS) เป็นโครงการที่สนับสนุนลูกจ้างชาวสิงคโปร์ที่มีรายได้น้อยให้เข้ารับการฝึกอบรมพัฒนาทักษะ รัฐบาลจ่ายค่าฝึกอบรมร้อยละ 95 โดยในปี 2560 รัฐบาลจะผ่อนผันเงื่อนไขเพื่อให้ลูกจ้างเข้ารับการฝึกอบรมให้มากขึ้น เช่น เพิ่มคุณสมบัติจากค่าจ้างขั้นต่ำที่จากเดิม 1,900 เหรียญสิงคโปร์เป็น 2,000 เหรียญสิงคโปร์เป็นต้น

      3.5 Special Employment Credit (SEC) เป็นความคิดริเริ่มของปีงบประมาณ 2554 เพื่อสนับสนุนนายจ้างการจ้างงานแรงงานสูงอายุชาวสิงคโปร์ต่อมาปี 2555 เพิ่มการสนับสนุนให้นายจ้างจ้างแรงงานสูงอายุและคนพิการอย่างต่อเนื่อง ลูกจ้างชาวสิงคโปร์อายุสูงตั้งแต่ 50 ปีขึ้นไปและมีรายได้ไม่เกิน $ 4,000 เหรียญสิงคโปร์ต่อเดือน จะได้รับเงินช่วยเหลือจากรัฐบาลสูงสุดร้อยละ 8 ของค่าจ้างรายเดือนของลูกจ้าง เป็นระยะเวลา 5 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2559 รัฐบาลได้ ขยายเวลาอีก 3 ปี เริ่มจาก 1 มกราคม 2560-2562 นายจ้างที่จ้างลูกจ้างสูงอายุ 65 ปีขึ้นไปโดยอัตโนมัติจะได้รับเงินช่วยเหลือสมทบภายใต้ Special Employment Credit (SEC) เพิ่มขึ้นอีกร้อยละ3 ของค่าแรงลูกจ้างต่อเดือน และหากนายจ้างจ้างคนพิการนายจ้างจะได้รับเงินช่วยเหลือสมทบค่าจ้างสูงสุดร้อยละ 16 แต่ไม่เกิน 240 เหรียญสิงคโปร์

      3.6 การให้ความช่วยเหลือระดับผู้บริหาร ผู้จัดการและผู้ชำนาญงาน รัฐบาลให้เงินสนับสนุนจำนวน 35 ล้านเหรียญสิงคโปร์ต่อปีภายใต้กองทุน Lifeong Learning Endowment Fund และ Skills Development Fund เพื่อส่งเสริมการจ้างงาน ช่วยในการปรับตัวในการเปลี่ยนงานตามความต้องการของตลาดแรงงาน พัฒนาทักษะและศักยภาพในการจ้างาน ขยายความช่วยเหลือการจ้างานใหม่ให้กับผู้ที่หางานทำไม่ได้ และเพิ่มโครงการการปรับปรุงระดับมืออาชีพสำหรับผู้หางานให้มากขึ้น

วิเคราะห์ผลกระทบต่อแรงงานไทย

       1. นโยบายการเพิ่มผลิตภาพการผลิต

             ข้อดี : 1) นายจ้างส่งแรงงานไทยเข้ารับการทดสอบมากขึ้นในประเทศสิงคโปร์ ทำให้แรงงานไทยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายหากสอบผ่านครั้งแรก ทำให้แรงงานไทยสามารถทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์ได้นาน 22 ปี และได้รับค่าจ้างสูงขึ้น   
                       2) การเพิ่มช่องทางยกระดับฝีมือทำให้แรงงานไทยมีโอกาสมากขึ้น หากสอบไม่ผ่านนายจ้างก็จะให้ยกระดับแรงงานไทยเข้าสู่ระบบ Market –Based Skills Recognition Framework เพราะแรงงานไทยมีค่าจ้างใกล้เคียง 1,600 เหรียญสิงคโปร์ และมีประสบการณ์การทำงานตามที่กำหนด

             ข้อเสีย : หากสอบไม่ผ่านเมื่อครบกำหนด 10 ปี แรงงานไทยต้องเดินทางกลับประเทศไทย และแรงงานใหม่ก็ไม่นิยมที่จะเข้าเรียนและสอบก่อนออกมาทำงานต่างประเทศ จำนวนแรงงานใหม่ที่เข้าแทนแรงงานเก่าจึงไม่สมดุลย์ ทำให้แรงงานไทยเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานและเกิดผลกระทบในเรื่องการยกเลิกสัญญาจ้างก่อนกำหนดเพื่อเปลี่ยนนายจ้า

          การให้ความช่วยเหลือของสนร. :

                1) เปิดอบรมและให้ความรู้การสอบ CoreTrade และ Multi Trade

                2) ศูนย์บริการแรงงานในและนอกเวลาราชการช่วยเหลือให้คำแนะนำเบื้องต้นกรณีมีปัญหาแรงงาน เป็นศูนย์รวมตัวแรงงานเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ความรู้ ประสบการณ์ที่เป็นประโยชน์กับการทำงาน

    2. นโยบายลดจำนวนแรงงานต่างชาติ

                  ข้อดี : แรงงานไทยส่วนใหญ่อยู่ในภาคก่อสร้าง และอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งยังเป็นที่ต้องการในภาคอุตสากรรมทั้ง 2 ประเภท นโยบายการลดจำนวนแรงงานต่างชาติไม่มีผลกับแรงงานไทย เพราะจำนวนแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในประเทศสิงคโปร์น้อยกว่าแรงงานอินเดีย บังคลาเทศและจีน อยู่แล้ว ดังนั้นจึงไม่มีข้อกำหนดอื่นๆนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในระเบียบการขอใบอนุญาตการทำงานแต่ละประเภท

                  ข้อเสีย : การเพิ่มระเบียบการขออนุญาตการทำงานประเภท S-Pass และ Employment Pass ทำให้คนไทยที่จะมาทำงานในตำแหน่งต่างๆ ภายใต้ใบอนุญาตทั้ง 2 ประเภท จะต้องเผชิญกับปัญหาเรื่องคุณสมบัติการศึกษา ประสบการณ์ และการนำผู้ติดตาม

        การให้ความช่วยเหลือของสนร. :

        1) จัดโครงการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ สาขาพ่อครัว แม่ครัว เพื่อเป็นการรับรองคุณสมบัติของลูกจ้างที่ขาดคุณวุฒิ

        2) การสร้างเครือข่ายให้ผู้บริหาร ผู้จัดการและผู้ชำนาญการ

  3.  เพิ่มจำนวนชาวท้องถิ่นให้เข้าสู่ตลาดแรงงานและเป็นแกนนำขององค์กร

         ข้อดี : แรงงานไทยส่วนใหญ่ทำงานในสาขาอาชีพที่ชาวท้องถิ่นปฏิเสธ ดังนั้นยโยบายดังกล่าวจึงมีผลกระทบกับแรงงานไทยน้อยมาก

         ข้อเสีย : มีโครงการบางโครงการที่รัฐบาลส่งเสริมให้ชาวท้องถิ่นที่มีความรู้น้อยเข้ามาทดแทนแรงงานต่างชาติ เช่น พนักงานขับเครนทุกประเภท พนักงานหัวเจาะ ซึ่งตำแหน่งเหล่านี้มีรายได้สูงและมีแรงงานไทยจำนวนพอสมควรที่ทำงานในตำแหน่งดังกล่าวแต่อย่างไรก็ตามสนร.ยังไม่ได้รับเสียงสะท้อนจากแรงงานที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ในแง่ลบ


3542
TOP